ผ่านมา 1 ปีเต็มกับการลงทุนใน ตลาดหุ้น ย้ำนะครับว่าลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ได้เล่นหุ้นนะครับ
ความหมายและหลักการมันต่างกัน
1 ปีในตลาดหุ้น 1 ปีที่สร้างสิ่งยิ่งใหญ่ในชีวิต
สำหรับชื่อหัวข้อคล้ายๆ กับหนังสือของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ชื่อว่า “ก้าวเล็กๆ ในตลาดหุ้น-ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต” ท่านเป็นไอดอลที่ผมเดินตามหลักการในการลงทุนแบบ VI เลยครับ
ผมได้เริ่มเปิดพอร์ตหุ้นตั้งแต่วันที่ 06/06/56 นี้ก็ครบ 1 ปีแล้ว หุ้นตัวแรกในพอร์ตลงทุนของผมติดดอย(ซื้อในราคาที่แพง) มานาน(ประมาณ 8 เดือน) จนเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งจะบวกมาได้ เนื่องจากตอนนั้นซ่าส์มาก ซื้อครั้งเดียวเกือบจะเทหน้าตัก มีเท่าไรใส่หมด เพราะแค่คิดว่าราคาถูกแล้ว โดยปราศจากการศึกษาที่แท้จริง ผมก็อยากแนะนำว่า
- ควรประเมินมูลค่าหุ้นแบบจริงๆ จังๆ มีหลักการ มีเหตุผล ไม่ใช่มานั่งเทียนคิดเอง เออเอง หาข้อมูลให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ เก็บบทวิเคราะห์ของแต่ละโบรกเกอร์ และไม่ได้ให้เชื่อเค้าทันทีนะครับ ให้มากรอง ชังน้ำหนักด้วยเหตุและผล
- เมื่อเรามั่นใจแล้ว แนะนำให้ตั้งราคาซื้อไว้ในใจหรืออาจจะโน็ตไว้ในกระดาษ เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยสัญญาว่าถ้าไม่เป็นตามราคานี้ จะไม่ซื้อเด็ดขาด! และไม่ขายเด็ดขาด! ส่วนตัวผมจะตั้ง MOS(margin of safety) ที่ 35% ของมูลค่าที่แท้จริง(สำหรับเวลาจะซื้อ) หมายความว่า ถ้ามูลพื้นฐานของหุ้นนั้น เท่ากับ 100 บาท ผมจะซื้อต่อเมื่อราคา 65 บาท และราคาที่จะขายตั้งบวกจากราคาเพิ่มฐานอีก 20% ก็คือ 120 บาทถึงจะขาย ซึ่งผมพยายามตั้งไว้สูง เพราะไม่อยากขาย ถ้าพื้นฐานบริษัทไม่มีปัญหาแย่จริงๆ ของดีใครเค้าเอามาขายกันละ ก็ต้องเก็บไว้
- เมื่อราคาตามเป้าที่เราตั้งแล้ว ให้ทยอยซื้อครั้บ ในกระดาษที่เราโน็ตไว้ในข้อที่สอง เช่น ราคาที่เราตั้งใจไว้ 10 บาท ก็เริ่มซื้อได้ พอวันรุ่งขึ้น มันเพิ่มเป็น 10.50 บาท ก็หยุดซื้อ วันต่อมา เหลือ 9.50 บาท ก็อาจจะซื้อมากขึ้นกว่าเดิม โดยไม่ต้องซ่าส์ซื้อครั้งเดียวเหมือนผม เพราะมีโอกาสที่ราคามันจะต่ำกว่าราคาพื้นฐาน
- เราคิดว่า หุ้นที่เราถืออยู่นั้น เราจะเชื่อมั่นในตัวมันได้ขนาดไหน ถ้าราคาหุ้นตัวนั้นตกไป 50% เพราะสภาวะตลาดอย่างเดียว โดยที่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้นไม่เปลี่ยน เราจะขายทิ้งไหม ? ถ้าเราไม่สามารถทนความรู้สึกนั้นได้ ผมว่ามันยาก (แต่เอาจริงๆ ผมก็ไม่เคยถือหุ้นที่ตกไปถึง 50% เลยนะ อย่างมากก็ 30% ตอนนั้นก็โคตรจะทรมารเลย ฮ่าๆ) วิธีแก้สำหรับผมคือ ไม่ต้องติดตามข่าวหุ้น เน้นหาหนังสือหลักการลงทุนมาอ่านแทนก็ช่วยได้เยอะครับ
ที่ว่ามา 4 ข้อที่ว่าเป็นหลักการในใจของผม ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้นแต่ละตัว แต่ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน และไม่มีทางที่เราจะวิเคราะห์ถูก 100% เพราะไม่มีใครสามารถรู้อนาคตได้ และอีกอย่าง ผมไม่มีทางขายหุ้นตัวนี้ มันจะเป็นหุ้นที่เตือนสติผม
ผมมีบทความสั้นๆ อยากจะให้อ่านครับ เป็นคำพูดของ อาจารย์ชัชชัย
“ถ้าคุณซื้อหุ้นโดยมีอารมณ์ร่วมแค่ตัวเลขราคาขึ้น ราคาลง คุณคือนักเก็งกำไร หรือเรียกว่ายๆ ว่านักพนันนั่นล่ะ ถ้าคุณซื้อหุ้นโดยมีอารมณ์ร่วม รู้สึกดีที่ถือหุ้นบริษัทนั้น ซื้อไว้ รอถือได้ไปเรื่อยๆ ถ้าปัจจัยไม่เปลี่ยนรุนแรง คุณคือนักลงทุน ถ้าถามว่าหุ้นลงขนาดไหนควรซื้อ ก็ต้องตอบให้ได้ก่อนว่าคุณเป็นนักเก็งกำไร หรือนักลงทุน ถ้าเป็นนักเก็งกำไรก็ต้องเน้นดูที่ข่าว และกระแสเงินเข้า และจังหวะในการซื้อ และขายทำกำไร และตัดขาดทุนให้เป็น ถ้าเป็นนักลงทุนก็ดูว่าราคาอยู่ในช่วงที่เรากำหนดไว้ในใจหรือไม่ ถ้าใช่ก็ทยอยซื้อ ถ้าไม่ใช่ถึงจะลงมามากก็ไม่ซื้อ ตัดสินใจโดยใช้ระบบที่ชัดเจน ไม่ไปใช้ระบบอารมณ์จากราคาตลาด ส่วนใหญ่ชอบบอกว่าตัวเองเป็นนักลงทุนเพื่อให้ฟังดูดี แต่จริงๆ แล้วคือนักพนัน นักพนันก็ต้องใช้หลักของนักพนันนักลงทุนก็ต้องใช้หลักของนักลงทุน”
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าผมดวงดี หรือว่าเดาเก่งหรอกครับ ใน 1 ปีมานี้หนังสือที่ผมได้ศึกษาเกี่ยวกับการตลาด และการลงทุนหลายๆ เล่ม ที่ผมได้เคยอ่าน และอยากจะแนะนำให้อ่านมีดังนี้ครับ
- แก่นแท้ของบัฟเฟตต์ : The Essential Buffett
- เหนือกว่าวอลสตรีท : ONE UP ON WALL STREET ของปีเตอร์ ลินซ์
- ตีแตก กลยุทธ์การลงทุนในภาวะวิกฤติ ของดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
- ลงทุนหุ้นอย่างสบายใจ ของดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
- ติวหุ้น…รวยด้วยวีไอ ของอธิป กีรติพิชญ์ (นิ้วโป้ง Fundamental VI)
- พ่อรวยสอนลูก ของ Robert T. Kiyosaki
- พ่อรวยสอนลงทุน ของ Robert T. Kiyosaki
- รวยหุ้นล้นฟ้าด้วยระบบคิดใหม่ ของคุณพิชัย จาวลา
- บัฟเฟตต์-โซรอส ลงทุนถูกนิสัย ยังไงก็ชนะ
บ้างเล่ม ผมก็เขียนสรุปไว้ในเว็บของผม (www.abzolute.in.th/category/การลงทุน) และยังมีตามเว็บบอร์ด และ blog การลงทุนหลายๆ เว็บ ก็เป็นแหล่งความรู้ที่ดีนะครับ เช่น thaivi.org, aommoney.com, tsi-thailand.org, .settrade.com
และขอทิ้งท้าย 2 ข้อคิดทืี่ผมจำได้ขึ้นใจครับ
ผมไม่เคยพยายามทำเงินจากตลาดหุ้นผมซื้อหุ้นโดยใช้สมมุติฐานว่า ตลาดหุ้นจะปิดในวันรุ่งขึ้น แล้วจะไม่เปิดทำการเป็นเวลา 5 ปี” และถ้าคุณไม่เต็มใจที่จะถือหุ้นได้นานถึง 5 ปี 10 ปี ก็อย่าคิดที่จะถือหุ้นไว้แม้เพียงแค่ 10 นาที
– Warren Buffett –
แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนอะไรเลยมีความเสี่ยงมากกว่า
– คุณพิชัย จาวลา –
ครั้งหน้าผมจะมาเขียนถึงวิธีการเลือกหุ้นที่ดีแต่ละตัวของผม(สไตล์กากๆ) ว่าคิดอะไรบ้าง วิเคราะห์ตรงไหน คำนวณอะไร เน้นดูงบการเงินตรงส่วนไหนครับ